[TOT]COVER22_Mobile_InsideBanner
SME-tips

อยากมีโรงงานเป็นของตัวเองทำได้ไม่ยาก
ข้อแนะนำสำหรับผู้ที่อยากมีโรงงานเป็นของตัวเองนั้น มีอยู่ 5 ขั้นตอนด้วยกันที่ต้องเรียนรู้

เมื่อเริ่มทำธุรกิจจนมีผลกำไรได้ระดับหนึ่ง ผู้ประกอบการหลายคนก็อาจมีความคิดที่อยากมีโรงงานเป็นของตัวเองเพื่อขยับขยายช่องทางสร้างผลกำไร ลดต้นทุนจากการที่ต้องจ้าง Outsource มาผลิตสินค้าให้ แต่แม้ว่าจะมองเห็นโอกาสจากตรงนี้ การเริ่มสร้างโรงงานเป็นของตัวเองก็มีหลายปัจจัยที่ต้องคำนึง มาดูกันเลยว่าสำหรับคนที่อยากมีโรงงานเป็นของตัวเอง ต้องเริ่มต้นจากอะไรบ้าง


5 สิ่งต้องรู้สำหรับผู้ที่อยากมีโรงงานเป็นของตัวเอง

การสร้างโรงงานเป็นของตัวเองนั้นไม่ได้ง่ายเหมือนกับการสร้างบ้าน เพราะมีหลายปัจจัยที่จำเป็นต้องทราบเพื่อโอกาสทางธุรกิจที่มากกว่า โดยข้อแนะนำสำหรับผู้ที่อยากมีโรงงานเป็นของตัวเองนั้น มีอยู่ 5 ขั้นตอนด้วยกันที่ต้องเรียนรู้ ดังนี้


1. แผนการที่ใช่จะทำให้เริ่มได้อย่างมั่นคง
shutterstock_1498742519_optimized-2

การสร้างโรงงานนั้นนับว่าเป็นเรื่องใหญ่ที่ควรจะวางแผนเอาไว้ก่อนเริ่มอยากรอบคอบ เพราะโรงงานแต่ละประเภทนั้นมีรูปแบบการก่อสร้างที่ไม่เหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นลักษณะของตัวอาคาร หรือโครงสร้างภายใน โดยสิ่งแรกที่ควรทราบนั่นก็คือ โรงงานที่กำลังจะสร้างนั้นมีจุดประสงค์เพื่อสินค้าประเภทใด เพื่อที่สถาปนิกจะสามารถออกแบบภายในโรงงานให้ถูกต้อง และผู้รับเหมาก่อสร้างได้ตามวัตถุประสงค์ที่ต้องการจะใช้งาน

นอกจากนี้ อีกหนึ่งสิ่งสำคัญที่ควรคำนึงสำหรับผู้ที่อยากมีโรงงานนั่นก็คือ งบประมาณที่มีและความคุ้มค่า เพราะนอกจากค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างแล้ว ยังมีเครื่องจักรอุตสาหกรรมจำนวนมากที่มีราคาค่อนข้างสูง รวมไปถึงการว่าจ้างพนักงานในอนาคตอีกด้วย ดังนั้นจึงควรคำนวณเอาไว้ให้ดีว่า งบประมาณที่คุณนำไปใช้ก่อสร้างโรงงานนั้นเพียงพอหรือไม่ คุ้มค่ากว่าการจ้าง Outsource ผลิตแค่ไหน และต้องใช้เวลานานเท่าใดจึงจะคืนทุน


2. ทำเลดีมีชัยไปกว่าครึ่ง
shutterstock_1018876636_optimized-2-2

หลายๆ คนอาจคิดว่าการสร้างโรงงานนั้นไม่จำเป็นต้องคำนึงถึงทำเลก็ได้ แต่จริงๆ แล้วการมีทำเลที่ดีก็สร้างข้อได้เปรียบให้กับโรงงานหลายประการ เนื่องจากโรงงานนั้นจำเป็นต้องมีการนำสินค้าจำนวนมากเข้าออกบ่อยครั้ง การเลือกทำเลที่รถบรรทุกขนาดใหญ่สามารถเดินทางได้สะดวกจึงสำคัญมาก หรือถ้าสามารถเลือกที่ดินติดทะเลหรือแหล่งน้ำได้ ก็จะยิ่งเพิ่มโอกาสในการส่งออกสินค้าได้อีกเช่นเดียวกัน

เพราะฉะนั้น ผู้ประกอบการที่อยากให้โรงงานมีการระบบการทำงานที่คล่องตัวและไม่ล่าช้า จึงควรศึกษาในด้านทำเลเป็นอย่างมาก นอกจากนี้ยังต้องอยู่ภายใต้กฎหมายในการก่อตั้งโรงงานอีกด้วย


3. ยื่นขอตรวจประเมินสถานที่ให้ถูกต้องตามกฎหมาย
ไม่ใช่ทุกพื้นที่ที่สามารถปลูกสร้างโรงงานขึ้นมาได้ โดยจำเป็นจะต้องดำเนินการขออนุญาตกับทางรัฐบาลให้ถูกต้องตามกฎหมายเสียก่อน โดยพิจารณาตามพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 จะแบ่งตำแหน่งที่อนุญาตให้ปลูกสร้างโรงงานได้เป็น 3 จำพวก ดังนี้

โรงงานจำพวกที่ 1 ได้แก่ โรงงานที่มีคนงานไม่เกิน 20 คน และมีเครื่องจักรไม่เกิน 20 แรงม้า สามารถดำเนินกิจการได้ทันทีโดยไม่ต้องยื่นเอกสารขออนุญาต

โรงงานจำพวกที่ 2 ได้แก่ โรงงานที่มีคนงานมากกว่า 20 คน แต่ไม่เกิน 50 คน และมีเครื่องจักรมากกว่า 20 แรงม้า แต่ไม่เกิน 50 แรงม้า โรงงานจำพวกนี้ไม่ต้องขอใบอนุญาต แต่ต้องแจ้งให้เจ้าหน้าที่ทราบก่อน พร้อมต้องชำระค่าธรรมเนียมรายปีด้วย

โรงงานจำพวกที่ 3 ได้แก่ โรงงานที่มีคนงานมากกว่า 50 คนและมีเครื่องจักรมากกว่า 50 แรงม้า หรือเป็นโรงงานที่มีมลภาวะจากการผลิต ซึ่งโรงงานจำพวกนี้จะเป็นต้องดำเนินการขอใบอนุญาตก่อนถึงจะสร้างโรงงานได้

หากโรงงานของคุณเข้าข่ายโรงงานจำพวกที่ 3 ต้องขอใบอนุญาตก่อนครับ ซึ่งจะต้องผ่าน 4 ขั้นตอนด้วยกัน ดังนี้

  1. ยื่นเอกสารดำเนินการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน
  2. ยื่นคำขอรับใบอนุญาต (แบบ ร.ง.3) และเอกสารรับฟังความคิดเห็นของประชาชน
  3. เจ้าหน้าที่รับคำร้องและพิจารณาความถูกต้องของเอกสารรวมถึงสถานที่ตั้งโรงงาน
  4. เจ้าหน้าที่แจ้งผลการพิจารณา

หากคุณสามารถผ่านการพิจารณาจากเจ้าหน้าที่ก็สามารถจัดตั้งโรงงานได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย และดำเนินการต่างๆ ได้เลยทันที


4. เลือกผู้รับเหมาที่มีคุณภาพเพื่อสร้างโรงงานในฝันให้เป็นจริง
ขั้นตอนการสร้างโรงงานนั้นถือว่าแตกต่างจากสิ่งปลูกสร้างทั่วไปค่อนข้างมาก โดยจะต้องมีโครงสร้างที่แข็งแรงและได้มาตรฐาน ซึ่งผู้รับเหมาก่อสร้างที่มีคุณภาพนั้น คือจุดสำคัญที่จะสร้างโรงงานในฝันของคุณให้เป็นจริงได้

แนะนำว่าให้เลือกผู้รับเหมาที่มีประสบการณ์สร้างโรงงานมาก่อนโดยตรวจสอบจากผลงานที่ผ่านมา เพื่อการันนตีว่างานที่ออกมาจะมีคุณภาพ ไม่เกิดการละทิ้งงานกลางคัน แม้ว่าอาจจะมีราคาสูงกว่าทั่วไป แต่รับรองว่าผลงานที่ออกมาจะคุ้มค่ากับที่จ่ายไปอย่างแน่นอน


5. หุ้นส่วนที่ดีจะช่วยแบ่งเบาการดูแลลงได้อีกมาก
shutterstock_761906878

แม้ว่าการสร้างโรงงานจะไม่ใช่เรื่องที่ไกลเกินฝัน แต่ก็มีรายละเอียดยิบย่อยให้คุณได้ต้องจัดการอีกเป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องโครงสร้างตัวอาคาร การจัดหาสถานที่ที่เหมาะสม ต้นทุน การดำเนินเรื่องขอใบอนุญาต การจัดหาซื้ออุปกรณ์ที่เหมาะสม รวมถึงการดูแลคุณภาพโรงงานให้ได้มาตรฐาน

หากคิดว่าปัญหาเหล่านี้จัดการเพียงคนเดียวไม่ไหว การหาหุ้นส่วนมาเป็นพาร์ทเนอร์จะช่วยแบ่งเบาภาระจากบ่าลงไปได้มาก มีเพื่อนคู่คิด ย่อมดีกว่าคิดอยู่คนเดียวแน่นอน การมีพาร์ทเนอร์ที่ดีจะช่วยให้คุณตัดสินใจได้ดีขึ้น มีคนช่วยในเรื่องดำเนินการต่างๆ อีกทั้งยังเป็นพลังสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนธุรกิจด้วยการทำโรงงานให้ใกล้ความจริงได้มากยิ่งขึ้น

การเริ่มต้นมีโรงงานของตัวเองนั้นแม้จะมีรายละเอียดมากมายให้ต้องจัดการ และต้องใช้งบประมาณเป็นจำนวนมาก แต่หากมีการศึกษาและเตรียมตัวเป็นอย่างดีแล้ว จะพบว่าสามารถทำได้ไม่ยากอย่างที่คิด เพียงแค่ต้องเริ่มจากวิธีที่ถูกต้องและทิศทางที่ใช่ เพียงเท่านี้โรงงานในฝันที่คุณอยากมีก็อยู่ใกล้แค่เอื้อม